!!!-- ประมุขสังฆมณฑล --!!!
...................................................................................................................................



พระสังฆราชยาโกเบ แจง เกิดสว่าง
เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 1881
ที่ตำบลบางตีนเป็ด อำเภอเมือง
จังหวัดฉะเชิงเทรา
เมื่อเยาว์วัย พระผู้เป็นเจ้าได้คุ้มครองท่านไว้ให้มีชีวิตรอดจากอันตรายสองครั้ง
คือ รอดจากการเกิดอุบัติเหตุจากไฟครั้งหนึ่ง
และรอดจากอุบัติเหตุจากน้ำครั้งหนึ่ง




ปี 1891 พี่ชายของท่านซึ่งยังศึกษาอยู่ที่ สามเณราลัยบางนกแขวก ซึ่งเป็นความประสงค์ของท่านเจ้าอาวาส ได้ล่วงลับไป ท่านจึงได้เข้าไปแทนตามความประสงค์นั้น
ปี 1899 ท่านสำเร็จการศึกษาเบื้องต้น และออกไปทำการทดลองฝึกงาน ประจำสามเณราลัยและเป็นหัวหน้าผู้ช่วยการก่อสร้างสามเณราลัยหลังใหม่ด้วย
ปี 1903 พอพ้นจาก กำหนดการทดลองฝึกงาน ท่านจึงเข้าศึกษาวิชาปรัชญาและเทววิทยาต่อไป จนสำเร็จ
ปี 1910 ได้รับศีลบรรพชาเป็นพระสงฆ์ มีหน้าที่เป็นปิตุลาจารย์ ทำการฝึกสอนที่สามเณราลัยอยู่ 7 เดือน
ปี 1911 รับหน้าที่เป็นปลัดที่วัดหัวไผ่และผนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
ปี 1912 ถูกย้ายกลับมาประจำสามเณราลัย ที่บางนกเขวก อีกเป็นคำรบสอง
ปี 1914 รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดคาทอลิก ที่จังหวัดอยุธยาและปากน้ำโพ
ปี 1915 ย้ายกลับมาประจำที่สามเณราลัยอีกเป็นคำรบสาม
ปี 1924 ถูกส่งไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเพลง
ปี 1928 ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวไผ่ และจัดสถานที่สร้างสามเณราลัยอีกแห่งหนึ่ง ที่ศรีราชา
ปี 1940 ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดกุดีจีน จ. ธนบุรี และรับหน้าที่เป็นผู้อบรมนางชี ที่อารามนางชี คลองเตย อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
ปี 1942 ย้ายกลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวไผ่อีก ซึ่งคงอยู่ต่อมาจนได้รับเลือกเป็นพระสังฆราช
10 ธันวาคม 1944 ได้รับการแต่งตั้งจาก สมเด็จพระสันตะปาปาเจ้า ให้เป็นพระสังฆราช
11 กุมภาพันธ์ 1945 วันนี้เป็นวันอภิเสกสถาปนาพระคุณเจ้า ขึ้นเป็นพระสังฆราช
...................................................................................................................................

...................................................................................................................................

พระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี
เกิดเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๕๒
(บ้านอยู่ข้างวัด)ที่ ต.เสาวภาผ่องศรี อ.องครักษ์ จ.นครนายก
กำพร้าบิดามารดาตั้งแต่ท่านอายุยังน้อย บิดาเสียชีวิตก่อน ทิ้งแม่ลูกไว้ด้วยกัน ๔ คน
ภายหลังมารดาก็ถึงแก่กรรมตามไปด้วย
เด็กชายสงวน เป็นลูกคนที่สอง แม่รักและห่วงใยมาก
ได้เรียนภาษาจีนในโรงเรียนวัด ในวัยเด็กจึงคลุกคลีกับวัดและเล่นกับเพื่อนๆในบริเวณวัดนั่นเอง
คุณพ่อโทมาสรองเจ้าอาวาสวัดเสาวภา ซึ่งครั้งกระโน้นขึ้นกับวัดลำไทร คุณพ่อได้กล่าวถึงท่านเมื่อวัยเด็กว่า “ก็เหมือนเด็กอื่นทั้งหลาย ไม่มีอะไรแปลกมากนัก” คำกล่าวนี้จริงอยู่บ้าง เด็กชายสงวนไม่ใช่เด็กเซื่องซึม ท่านฯเองเล่าว่า มารดาคอยดูแลอบรมอย่างเคร่งครัด จนทุกครั้งที่มีแขกมาพักนอนที่บ้าน เด็กชายสงวนดีใจเสมอกระโดดโลดเต้นและซนได้ตามใจ เพราะรู้ว่าแม่ไม่กล้าดุต่อหน้าแขก
คราวเมื่อมารดาป่วยหนัก คุณยายถามว่า “ถ้าแม่ใช้เงินรักษาตายายหมดเกลี้ยงแล้ว หลานจะทำอย่างไร? “หนูจะไปหาเงินมาให้เอง” หนูน้อยตอบอย่างไม่หวั่นกลัว
คราวหนึ่งเห็นลูกจ้างโกนหนวดก็เข้าไปสังเกตดู พอลูกจ้างวางมีดโกนหนวดไปทำธุระ เห็นไม่มีใครแล้วก็เอามีดมาโกนเอาอย่างบ้าง แต่ผลที่ได้กลายเป็นโกนเนื้อเป็นแผลเลือดไหล เพราะอยากจะทำอย่างผู้ใหญ่นั่นเอง พฤติกรรมเหล่านี้และอื่นๆอีกมากส่อให้เห็นว่าเด็กชายสงวนหัดผจญภัยมาแต่เยาว์ นอกจากนี้ มีอะไรพิเศษอยู่เสมอ ให้เห็นผิดกับเด็กอื่นๆ ทั้งๆที่ยังเด็ก เช่น เมื่อผู้ใหญ่ถามสิ่งใดไม่ตอบง่ายๆ คิดดีๆเสียก่อนจึงตอบ ส่อให้เห็นว่าจะเป็นคนมีความคิดสุขุมภายหลัง นอกนั้นยังมีความเคารพต่อพระสงฆ์มาก ครั้งหนึ่งคุณต่อตบมือเรียกเด็กๆที่เล่นอยู่ในบริเวณวัดให้มารับการอบรม เพื่อนเด็กด้วยกันก็พากันตบมือด้วย เด็กชายสงวนแสดงความไม่พอใจตำหนิเพื่อนว่า ทำเช่นนั้นไม่ดีเป็นการล้อเลียนคุณพ่อ อีกคราวหนึ่งพบเสื้อของคุณพ่อตากไว้ที่ระเบียง ลมพัดตกลงไปอยู่ที่พื้นดิน ไม่กล้าเก็บเอาขึ้นมาถือว่าเป็นของพระสงฆ์ผู้ทรงศีล ได้แต่ขึ้นไปบอกคุณพ่อว่า เสื้อตกอยู่ข้างล่าง เลยถูกดุว่าทำไมไม่เก็บขึ้นมา ก็ตอบว่า “ผมไม่กล้าครับ” คุณพ่อเจ้าวัดกวดขันให้คอยดูแลให้เด็กๆไปแก้บาปรับศีลช่วยมิสซา เด็กชายสงวนจึงได้รู้รสในกิจศรัทธา ญาติเล่าให้ฟังว่าเคยเล่นทำมิสซากับพี่ๆน้องๆ ผ้าขาวม้าเป็นเสื้อมิสซา กล้วยฝานเป็นชิ้นแทนศีล แจกให้เพื่อนๆน้องๆ ด้วยกัน

เข้าสามเณราลัย
          คุณพ่อเห็นเด็กชายสงวนมีความศรัทธาและมีลักษณะความสามารถอื่นๆสมควรเป็นพระสงฆ์ จึงเสนอต่อเจ้าอาวาสใหญ่แห่งวัดลำไทร คือ คุณพ่อดูรังด์
ก็ได้รับอนุมิติโดยที่คุณพ่อดูรังด์เองก็รู้จักพ่อแม่ของเด็กคนนี้ดี จึงได้เข้าสามเณราลัยบางนกแขวกปี 1922 เมื่ออายุ 13 ขวบ เมื่อเข้าอยู่ตอนแรกๆ รู้สึกคิดถึงบ้านและได้รับความลำบากในการเรียน เพราะได้เรียนภาษาจีนเป็นพื้นฐานมาก่อน เมื่อต้องมาเรียนเป็นภาษาไทยและภาษาลาตินก็รู้สึกยากตามเพื่อนๆไม่ทัน ทั้งที่มีปัญญาอยู่ในขั้นดีมากทีเดียว เนื่องจากเป็นคนที่มีนิสัยแก้ไขหาทางออกได้มาตั้งแต่เยาว์แล้ว เคยพบวิธีตกกบจับงู ไฉนจะหาวิธีจับความรู้ใส่ตัวไม่ได้เชียวหรือ จึงพยายามบากบั่นสอบถามเพื่อนบ้าง หาวิธีด้วยตนเองบ้าง เช่น ถึงคราวคัดไทย สังเกตเห็นอักษรไทยไม่หงิกงออย่างอักษรจีน แต่เป็นเส้นตรงส่วนมาก็ใช้ไม้บรรทัดลากเส้นในตอนที่เป็นเส้นตรง แล้วมาแต่งแต้มส่วนโค้งหรือเหลี่ยมเอาภายหลัง โดยหาทางออกเช่นนี้ ก็ค่อยๆกระเตื้องขึ้นในด้านการเรียน คราวนี้จะต้องพยายามเอาตำแหน่งดีๆ ก็ใช้วิธีเดิมที่เคยใช้ในการปล้ำชนะ เล็งเพื่อนในชั้นที่ชนะตนหนึ่งตำแหน่งเป็นเป้า พยายามเอาชนะจนได้ในที่สุด ขยับขึ้นไปทีละตำแหน่งๆ จนเข้าประจำอยู่ในหมู่หัวหน้าชั้นในที่สุด ได้ผลสำเร็จเป็นบำเหน็จตอบแทนความอุสาหะพยายาม คุณพ่อการ์ตองอธิการเวลานั้นกล่าวว่า “สามเณรสงวนไม่เรียนจำ แต่เรียนคิด” จึงมีความรู้แน่นแฟ้น ถนัดทางคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาใช้ความคิด ส่วนหน้าที่ภายนอกคุณพ่อยาโกเบมอบธุระให้ดูแลสวนต้นโกรตันและต้นไม้ดอกสำหรับประดับวัด เณรสงวนทำหน้าที่นี้เรื่อยมาตลอดเวลา 8 ปีที่อยู่บ้านเณร จึงมีนิสัยและความชำนาญทางเพาะปลูก เมื่อเรียนจบหลักสูตร 8 ปีแล้ว ท่านฯแปร์โรสกำหนดให้ไปทำการทดลองโดยเป็นครูที่วัดนครราชสีมา ซึ่งพอดีพ่อเจ้าวัดคือคุณพ่อโทมาสนั่นเอง ครูสงวนเป็นครูไม่กี่เดือนผู้ใหญ่ก็ส่งไปศึกษาต่อที่กรุงโรม

เข้าสามเณรใหญ่ที่โรม บวชเป็นพระสงฆ์

          ครูสงวนไปศึกษาต่อที่กรุงโรงพร้อมกับครู เคียมสูนย์ (ยวง) นิตโย เข้าที่มหาวิทยาลัยปรอปากันดาในปี 1930 ศึกษาพร้อมกับสามเณรชาติต่างๆจากทุกทวีป
มีโอกาสวิสาสะกับคนแทบทุกชาติ มีนิสัยใจคอขนบธรรมเนียมต่างๆ เป็นการหัดการสมาคมไปในตัว เหมาะแก่การอบรมเป็นพระสงฆ์คาทอลิกบำเพ็ญตนเป็น
“Omnis omnibus” คือเป็นทุกย่างเพื่อนทุกคน จึงได้เพราะนิสัยชอบพูด ร่าเริงอยู่เสมอ ในด้านการศึกษาคราวนี้ครูสงวนไม่พบความยากอะไรอีกแล้ว เพราะวิชาที่ต้องเรียน ก็คือปรัชญา เป็นวิชามือขวาสำหรับผู้ชอบใช้ความคิด ต้นปีที่สองทำการปฏิญาณว่าจะพยายามเดินหน้าจนบรรลุชั้นพระสงฆ์ทำงานเพื่อวิญญาณในมิซซัง ปลายปีที่สองก็เข้าสอบไล่ได้ปริญญาเอก ทางปรัชญา (Ph.D.) ได้คะแนนในชั้นดี แล้วเข้าศึกษาเทววิทยา กลางปีที่สามรับศีลโกนเข้าอยู่ในคณะนักบวช ปีต่อๆไป รับศีลน้อย (Sub-deacon) จนได้รับศีลใหญ่ (Deacon) เป็นลำดับ และได้รับศีลบรรพชาเป็นพระสงฆ์ในปี 1936 โดยพระคาร์ดินัลมาร์แคตตีซัล เวคชานี ถวายบูชามิสซาครั้งแรกที่พระแท่นมีพระธาตุแขนของนักบุญฟรันซิสโก อุทิศแก่บิดามารดาผู้วายชนม์และญาติพี่น้องพร้อมทั้งผู้ที่มีบุญคุณทั้งหลายที่มีส่วนนำขึ้นพระแท่น อุทิศแก่วิญญาณที่จะต้องอยู่ในอารักขาของตนในอนาคตอันใกล้
          หลังจากบรรพชายังต้องศึกษาต่ออีกครึ่งปีการศึกษา เข้าสอบไล่ได้ปริญญาโททางเทววิทยา (L.S.Th.) เข้าเฝ้าพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ขอรับพระราชทานพระพรทูลลากลับประเทศไทยในปี 1937

ปลัดวัดที่เชียงใหม่ ดูแลวัดเวียงป่าเป้า “เดินดง” ปลัดวัดกาลหว่า
          คุณพ่อสงวน สุวรรณศรี เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในวันฉลองแม่พระขึ้นสวรรค์ ท่านฯแปร์โรสกำหนดให้ไปช่วยคุณพ่อเมอนีเอร์เจ้าอาวาสวัดเชียงใหม่ ทำการประกาศศาสนาร่วมกับคุณพ่อนิโคลัสบุญเกิด กฤษเจริญ พระสงฆ์ใจร้อนรนซึ่งภายหลังมรณะในคุกเมื่อเวลาสงครามเพราะมั่นในความเชื่อ นอกนั้นยังมีพระสงฆ์หนุ่มๆคือ ค.พ. อาทานาสและเดอนีส์แต่ไม่ได้อยู่ประจำที่เชียงใหม่ ต่างแยกกันไปดูแลวัดไกลๆในป่า คราใดที่มาพบกันที่เชียงใหม่ก็ถีบจักรยานเข้าไปในบริเวณเมืองเพื่อประกาศศาสนาเป็นการหย่อนใจกับเพื่อนๆไปในตัว คุณพ่อสงวนเดิมใช้จักรยานไม่เป็น มาลงมือหัดที่เชียงใหม่นั่นเอง มีผู้ชำนาญมาแนะนำให้อย่างละเอียดแต่ไม่ได้ผล ทั้งรถทั้งคนล้มลุกไม่รู้กี่ครั้ง บาดเจ็บก็หลายแผล ชักระอาจะเลิกอยู่แล้ว แต่ได้ยินว่าเพื่อนพระสงฆ์หัดได้ด้วยกันทุกองค์ เลยมีมานะหัดจนได้ มานะนั้นเองที่ชนะปล้ำ ชนะเรียนมาแต่ก่อน หัดได้ไม่นาน ก็สมัครเดินทางถีบจักรยานขึ้นเขาลงเขาไปเยี่ยมวัดในป่าระยะทาง 40 กิโลเมตร ตามเพื่อนพระสงฆ์ซึ่งถีบจักรยานเชี่ยวอยู่ด้วย พอถึงจุดหมายรู้สึกบอบช้ำเหนื่อยอ่อนเต็มทน จนท่านรับสารภาพเองว่า เมื่อปล่อยรถดิ่งลงจากภูเขา ถ้ารถไปสะดุดหิน คงแขนขาหักศีรษะแตกไปแล้ว แต่เดชะบุญเทวดารักษาคอยนำทางกรรมกรของพระเจ้า จึงได้ปลอดภัย เมื่อทางผู้ใหญ่เห็นว่าคุณพ่อรู้ภาษาภาคเหนือพอใช้ได้แล้ว จึงให้รับผิดชอบมอบวัดเวียงป่าเป้าให้ดูแล ชื่อ”เวียงป่าเป้า” พอให้เข้าใจว่าเป็นวัดห่างไกลอยู่ในระหว่างเชียงใหม่เชียงราย กว่าจะพบเพื่อนพระสงฆ์ ต้องเดินทางคือเดินเท้ารอนแรมตามป่าตามเขาถึงสองคืนสามวัน ชีวิตเดินดงของคุณพ่อก็เริ่มด้วยประการฉะนี้ เป็นผลเนื่องจากท่านฯแปร์โรสรักใครก็ให้เดินดงเช่นนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ได้รับความลำบากจะได้มั่งมีบุญกุศล คุณพ่อเองเคยเล่าถึงการเดินทางเป็นการผจญภัยโดยมีเพื่อนคนหาบคนหนึ่ง ทางเหนือเรียกคนหาบว่า “ก๋วย” มีที่นอนน้อยที่สุด หนังสือสวดกับเสบียง เดินชมปาชมไม้ชมนกชมเนื้อไป เสียดายคุณพ่อไม่ใช่นักประพันธ์ มิฉะนั้นคงจะได้หนังสือ “นิราศ” ดีไพเราะหลายเรื่อง ถ้าเป็นฤดูฝน ยิ่งกุศลมากหลาย ต้องระวังทากคือปลิงบกเกาะอยู่ตามต้นไม้ พอได้ยินเสียงแกรกกรากมันชะเง้อดูว่าใครมาทางไหน แล้วพุ่งตัวใส่เกาะแน่น ดูดเลือดเป็นอาหารทันที เมื่อขึ้นลงเขาเป็นการเล่นสกีดีๆนี่เอง ค่าที่น้ำฝนนองดินลื่น พอลงจากเขาก็ถึงห้วย เดินลุยห้วยนี้แล้วก็พบห้วยอีกซึ่งพาเอาน้ำห้วยเก่านั้นเองมาให้ลุยข้ามใหม่ เพราะเป็นห้วยสายเดียวกันนั่นเอง วกมาจ๊ะเอ๋เสียงคำรามก้องป่า บางครั้งต้องข้ามห้วยกว้างใช้ได้ พอข้ามไปได้หน่อยฝนตกหนักคราวนี้จะรีรอชมน้ำไม่ได้แล้ว เพราะอันตรายถึงชีวิต โน่นน้ำไหลเชี่ยวกระหน่ำมาจะพัดทั้งคนทั้งของเข้ากระทบหินแหลกลานไม่เหลือซาก จำเป็นรีบเข้าหาเกาะแก่งน้อยๆกลางห้วย พอดีค่ำเพื่อนทางน้ำใจดีอุตส่าห์หากิ่งไม้มาทำกระท่อมน้อยๆ พออยู่ด้วยกันสองคน พยายามสุมไฟไล่ริ้น ฝนตกทั้งคืนไม่หยุด เปลี่ยนกันหลับเฝ้ายามคอยดูเหตุการณ์ต่อไป นี่หรืออดีตนิสิตมหาวิทยาลัยได้ดีกรีมายึดแก่งน้อยๆเป็นทีพำนัก? ความคิดนี้แพลมเข้ามาในสมอง แต่ข้าบริการพระเจ้าทำงานเพื่อพระ เพื่อให้”เมืองของพระองค์มาถึง” เมืองแห่งความจริง เมืองแห่งสันติภาพ เมืองแห่งกางเขน จะได้สันติภาพแท้จริงก็ต้องปฏิบัติตามพระมหาเยซู ลำบากเหมือนพระองค์ แบกกางเขนอย่างพระองค์ ลำบากเพื่อผู้อื่นๆ ทำอย่างอื่นคือหาความสบายใส่ตัว ปล่อยให้คนอื่นลำบาก จะไม่มีสันติภาพแท้จริง คุณพ่อคงสวดลูกประคำเอากางเขนขึ้นมาจูบ ทำให้มีกำลังใจยิ่งขึ้น รุ่งขึ้นเช้าฝนหยุดออกเดินทางต่อไป แต่มาติดฝนเสียเวลาอยู่มาก อาหาที่ติดตัวมาสำหรับ 3 วันต้องสงวนกินไป 4 วัน เพราะต้องเพิ่มการเดินทางอีกหนึ่งวัน พูดถึงอาหารเมื่ออยู่เวียงป่าเป้า คุณพ่อต้องอดออม ใช้จ่ายวันละ 18 สตางค์ เป็นค่ากับข้าวเลี้ยงทั้งตัวเองและคนในวัดด้วยกันประมาณ 10 คน เพราะทีวัดมีโรงเรียนต้องเก็บเงินไว้สำหรับเงินเดือนครู ที่จริงก่อนสงครามเงินราคาสูงกว่าเวลานี้ และของทางเมืองเหนือราคาถูก แต่ใช้จ่ายเพียง 18 สตางค์ต้องนับว่ากะเบียดกะเสียรเต็มที่ ปี 1940 ท่านฯแปร์โรสย้ายคุณพ่อลงมาที่กรุงเทพฯ มีหน้าที่ช่วยเจ้าอาวาสวัดกาลหว่าคือคุณพ่อออลีเอร์ และยังเป็นผู้ฟังแก้บาปองค์พิเศษในอารามคลองเตย จึงได้มีโอกาสปรับปรุงภาษาจีนซึ่งทิ้งมานานแล้ว จนเท่ากับเรียนใหม่ก็ว่าได้

ต้องคดีกบฎภายในและนอกประเทศ ถูกตัดสินจำคุก
          สงครามนำมาซึ่งความยุ่งเหยิงทุกครั้ง และสงครามหลังเพิ่มความยุ่งเหยิงขึ้นมากกว่าครั้ง ก่อน ๆ เป็นลำดับ สงครามโลกครั้งที่สองทำความยุ่งเหยิงมากกว่าครั้งใดและในทุกด้าน นับแต่การครองชีพ ชีวิตจิตใจตลอดจนศีลธรรม ผลตำตาเราจนปัจจุบัน ปี 1941 วัดปราจีนบุรีไม่มีพระสงฆ์ เพราะคุณพ่อแปร์รัวเจ้าอาวาสรับคำสั่งให้เข้ากรุงเทพฯ ฐานเป็นคนต่างด้าว เวลาก็ใกล้เทศกาลคริสตมาสอยู่แล้ว ท่านฯ แปร์โรสจึงใช้คุณพ่อสงวนให้ไปเตรียมสัตบุรุษแก้บาป รับศีลในโอกาสฉลอง คุณพ่อสงวนก็ฟังคำสั่งไปทำหน้าที่ซึ่งไม่เป็นความผิดต่อหน้าพระและต่อหน้ามนุษย์ หน้าที่พระสงฆ์มีแต่นำความสุขใจมาสู่มนุษย์เป็นสิ่งพึงประสงค์ของทุกคนอย่างมาก โดยเฉพาะในยามสงคราม ไม่ควรยุ่มย่ามในทางธรรม ในเมื่อยุ่งเหยิงทางโลกพอดูอยู่แล้ว ควรปล่อยให้มนุษย์พึ่งธรรมเป็นกำลังใจ จะได้ทำหน้าที่พลเมืองดี เป็นกำลังของประเทศเอง เมื่อเสร็จสงคราม เราท่านคงได้พบปะสนทนากับพระสงฆ์ประจำกองทัพ ท่านเล่าว่า เมื่อทหารทำหน้าที่ทางศาสนาครบถ้วนแล้ว เขาออกปฏิบัติการด้วยความสบายไม่กลัวตาย คุณพ่อสงวนเข้าทำหน้าที่ในวัด ก็รู้สึกถูกกีดกันขวางทุกวิถีทาง ถูกสงสัยทุกอย่าง ดูเหมือนคุณพ่อเองเป็นเหยื่อของเขา เขามีโอกาสใช้เป็นทางหาความดีความชอบ พูดสั้น ๆ ก็คือ คุณพ่อเป็น “นาบุญ” ของเขา แต่ลักษณะนาบุญชนิดนี้เข้าเนื้อคุณพ่อมาก จะพึ่งแก้บาปหรือ ก็ต้องมีพยานรู้เห็นได้ยินได้ฟัง จำเป็นต้องทำงานโปรดยกบาปทั่วไป โดยมีข้อไขให้สัตบุรุษไปสารภาพบาปต่อภายหลังเมื่อสบโอกาส หนังสือสวดของคุณพ่อก็ถูกยึดไปตรวจ จนกระทั่งเสื้อชั้นในปักย่อไว้ว่า F.X (ฟรันซีส ซาเวียร์) ก็หาว่าเป็นเสื้อฝรั่งเศส คริสตมาสเป็นวันนำสันติ แม้คนต่างศาสนาก็ร่วมยินดีอวยชัยให้พรแก่คริสตชนเพื่อนร่วมชาติ แต่คริสตมาสปีนั้นนำความสะทกสะท้าน ความยุ่งเหยิงซับซ้อนและคริสตชนเพื่อนร่วมชาติ แต่คริสตมาสปีนั้นนำความสะทกสะท้าน ความยุ่งเหยิงซับซ้อน และคริสตชนปราจีนบุรีเป็นที่สุด ใคร ๆ ก็คาดได้ว่าเรื่องจะไม่เสร็จสิ้นแค่นี้ จะอิ่มใจกันได้ก็เมื่อจะได้เก็บตัวคุณพ่อไปเสีย จริงตามคาดคุณพ่อถูกจับกุมพร้อมกับคุณพ่อมีแชลส้มจีน เจ้าอาวาสวัดโคกวัด ฐานฉายไฟนำทางเครื่องบินศัตรู เป็นการกบฏภายในและภายนอกประเทศ คุณพ่อเองชอบสนุก เคยพูดว่าถ้ามีกบฎภายเหนือและภายใต้ประเทศด้วยแล้ว ก็คงถูกกล่าวหาด้วยเหมือนกัน เมื่อถูกจับกุมกล่าวหาเช่นนี้ คุณพ่อก็ต้องป้องกันตัวเอง จะหาทนายไหนช่วยว่าต่างไม่ได้แล้ว ถึงเวลาคุณพ่อต้องปล้ำเอาชนะความจริง พ่อซักถามฝ่ายโจทย์ ในศาลว่า เห็นคุณพ่อฉายไฟในระยะห่างจากเขาเท่าไร ระยะห่างเท่านี้ยิงได้ไหม มีอาวุธปืนไหม เขาตอบว่าห่างระยะยิงได้มีปืนด้วย คุณพ่อถามว่าเหตุไฉนไม่ยิง คนหนึ่งตอบว่าไม่กล้า ผู้ตอบพอดีมีเหรียญกล้าหาญกลัดไว้ที่หน้าอก คุณพ่อก็เลยตำหนิว่าเหรียญกล้าหาญที่หน้าอกไม่คู่ควรกับความกล้าหาญของเจ้าเลย อีกคนหนึ่งตอบว่าไม่ยิงเพราะสงสาร คุณพ่อก้มหัวคำนับอย่างงามเป็นการขอบใจ หรืออะไรอื่นก็เข้าใจไปตามใจชอบ การซักถามของคุณพ่อในศาลมีคนพากันไปฟังมาก โดยเฉพาะทนายความในปราจีนฯ และจังหวัดใกล้เคียง เมื่อออกจากศาลพวกทนายความอาชีพพากันถามคุณพ่อว่า : ได้เรียนกฎหมายหรือเปล่า คุณพ่อว่าไม่ได้เรียนเลยเอาความจริงเข้าสู้เท่านั้น พวกทนายความไม่เชื่อ ถ้าท่านบาทหลวงไม่ได้เรียนกฎหมาย คงตอบไม่ได้เช่นกัน แล้วพากันกล่าวว่าถ้าเป็นเวลาปกติ ท่านบาทหลวงต้องถูกปล่อยพ้นข้อหาไปแล้ว แต่เวลานั้นไม่ใช่เวลาปกติ ดูประหนึ่งกาลสมัยสำหรับความจริง ความยุติธรรม พลิกแพลงไปได้ตามใจชอบ มีสมัยนิสัย ความยุติธรรม และสมัยไม่นิยม คุณพ่อจึงถูกตัดสินจำคุก กลายเป็นนักโทษกบฎ ทั้ง ๆ ที่ คุณพ่อชี้แจงความบริสุทธิ์อย่างโจ่งแจ้งแล้ว ทั้ง ๆ ที่มหาชนมีศีลธรรมเข้ากับคุณพ่อทั้งนั้น พากันบ่นว่า “ไม่ควรทำเขาเลย เก่งแต่ทำนักบวช เพราะท่านไม่สู้” ปรากฏความจริงภายหลังว่า มีคนแกล้งฉายไฟเกือบถูกเพื่อนยิงตายไปแล้ว แล้วมาใส่ความคุณพ่อ หาเพื่อน ๆ เป็นพยาน แต่บางคนกลัวบาป ไม่กล้ายอมรับทำ คุณพ่อในฐานที่เป็นนักโทษต้องทำงานหนักตามถนนเหมือนนักโทษทั้งหลาย แต่คุณพ่อเด่นในหมู่นักโทษเพราะไม่ใช่นักโทษสามัญ เป็นพระสงฆ์ถูกใส่โทษ ตั้งหน้าทำงานไม่มีปริปากบ่น ด่า เหมือนนักโทษสามัญ จนผู้ดีผ่านไปสงสารซื้อขนมให้รับประทาน ชวนสนทนาเป็นการทุเลาใจ ผู้คุมบางคนยอมรับว่าเข้าใจการกระทำของคุณพ่อดี “ผมเข้าใจ ๆ ท่านบาทหลวงยอมลำบากเพราะเอาอย่างพระเยซู ที่ยอมถูกตรึงกางเขน” เพื่อนนักโทษเองมีความเคารพ กำลังสนทนากันถึงเรื่องหยาบโลน พอเห็นคุณพ่อเดินมาต่างบอกเตือนกันให้เลิกพูดหยาบคาย นักโทษนักเลงบางคนไม่ยอมให้คุณพ่อทำงาน (เหลาไม้) อ้างว่าจะทำแทนคุณพ่อ แต่กลับไปลักเอาไม้ที่คนอื่นเหลาแล้ว มาใส่ในกองของคุณพ่อ จนเมื่อคุณพ่อมาทราบความจริงภายหลัง ต้องห้ามปรามเพราะให้ร้ายแก่ผู้อื่น นี่แหละมนุษย์เราไม่ชั่วไปทุกคน ยังมีดีส่วนมากเสียด้วย แต่แปลกอยู่ที่ว่าคนชั่วไม่กี่คน ทำไมจึงมีอิทธิพลเหนือคนดีส่วนมาก? แต่สถานะเช่นนี้จะอยู่นานไม่ได้ องค์ความดี องค์ความยุติธรรมคือพระเป็นเจ้า ต้องจัดการให้เป็นไปตามระเบียบ จึงเมื่อคุณพ่ออยู่ในคุกได้ 2 ปีแล้วก็ได้รับอภัยโทษ ทั้ง ๆ ที่หมู่อันธพาลด้านในบาปต้องการอายัดตัวทำแก่คุณพ่อต่อไป โดยคิดฟ้องร้องหาความอะไรอื่น และเนรเทศเป็นที่สุด แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ คุณพ่อจึงได้กลับมากรุงเทพ โดยอาศัยมนุษย์ใจดี มีศีลธรรมเป็นเครื่องมือของพระเป็นเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์นั่นเอง

กลับมาเป็นปลัดวัดกาลหว่า อธิการสามเณราลัยศรีราชา เจ้าอาวาสวัดศรีราชา รับแต่งตั้งเป็นสังฆราชมิสซังจันทบุรี
           เมื่อคุณพ่อพ้นโทษออกจากคุกแล้ว ท่านฯ แปร์โรส ให้คุณพ่อเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดกาลหว่าอีกดังเดิม คุณพ่อเองเล่าว่า อยู่ในคุกไม่ได้ทำมิสซามานาน พอมาคราวนี้ เท่ากับหัดใหม่ ภายหลังท่านท่านฯ แปร์โรส ให้ไปอยู่วัดปากน้ำ อยู่ได้ไม่นาน ท่านฯ ก็ตั้งให้เป็นอธิการสามเณราลัย ศรีราชา นับว่าคุณพ่อได้มาเปิดสามเณราลัย ซึ่งได้ปิดเมื่อครั้งเริ่มสงคราม เวลานั้น ยังไม่สิ้นสงคราม การครองชีพฝืดเคืองอยู่บ้าง คุณพ่อพร้อมกับเณรช่วยกันทำการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ บริเวณบ้านเณร ซึ่งเป็นป่าหญ้าคา ก็โล่งเตียน แลดูงามตา ต่อมาสัตบุรุษคริสตังเพิ่มขึ้น จึงเข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีราชา ซึ่งมีตัวตนขึ้นเป็นรูปวัด โดยน้ำมือของคุณพ่อโดยแท้ คุณพ่อยังรับสอนภาษาลาตินแก่เณร สอนวิชาปรัชญาและคำสอนด้วย ยังฟังแก้บาปเณร และเป็นผู้ฟังแก้บาปองค์พิเศษของ ร.ร.วจนคาม ทั้ง ๆที่ มิสซังจันทฯ แยกออกจากมิสซังกรุงเทพ ฯ แล้ว ท่านฯ แปร์โรส ยังตามตัวคุณพ่อใช้ให้ทำธุระสำคัญ ๆ เช่น ให้ไปเตรียมสัตบุรุษจีนที่พระตะบอง แก้บาป รับศีล ค่าที่รักไว้ใจ คุณพ่อดูแลสัตบุรุษให้แก้บาปรับศีลจำนวนมากทีเดียว เมื่อคิดตามส่วนจำนวนสัตบุรุษ ใครยากจน ก็ช่วยเหลือให้มีอันจะกิน หัดเด็กให้รู้จักขับร้อง เล่นหีบเพลง จนแปลกตาแก่นักท่องเที่ยว หัดเด็กเล็ก ๆ ขับร้อง เล่นหีบเพลงได้คล่องแคล่วรวดเร็ว ไม่ติดขัด คุณพ่อคิดหาทางให้วัดค่อย ๆ มีรายได้ เป็นความเจริญแก่วัด เดิมวัดจนแสนจน ต้องยืมโน่นนี่มาจากวัดอื่น มีแต่ของใช้จำเป็นเท่านั้น มาเดี๋ยวนี้มีของใช้ในวัด ตบแต่งได้อย่างสง่า ไม่น้อยหน้าวัดใหญ่ ๆ ที่สุดคุณพ่อสู้เสียสละเงินก้อนใหญ่ สั่งระฆัง 3 ใบ ระฆังยังไม่ทันมาถึง ก็พอดีได้รับคำสั่งทางกรุงโรม แต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชในมิสซังเอง คราวเมื่อสมณทูต ฯพณฯ จอห์น คูรี่ย์ มาเยือนมิสซังจันทบุรี เมื่อเดินทางไปวัดจันทบุรี ผ่านพักที่ศรีราชาไม่มีอะไรน่าสังเกต แต่ขากลับมาแวะอยู่ราว 2 ชั่วโมง สังเกตดูสมณทูตสนิทสนมกับคุณพ่อสงวนมาก อุตสาห์ไปเยือนถึงในห้องของคุณพ่อ พากันไปตรวจดูวัด ดูบ้านเณร แต่คุณพ่อเองไม่ระแวงอะไรเลย
          ต่อมามีการเข้าเงียบพระสงฆ์ที่ศรีราชา คุณพ่อออรีเอร์ มาให้ธรรมเทศนาเมื่อวันที่ 28 มกราคม เวลา 14.30 น. คุณพ่อพร้อมกับคุณพ่อวินทร์ เลขานุการแห่งมิสซังจันทบุรี พากันไปส่งคุณพ่อออรีเอร์ กลับกรุงเทพ พอดีรถจะออกมาคนนำโทรเลขมาส่งคุณพ่อ เปิดออกอ่านพบคำแรกว่า “ Holy father” โดยไม่ได้ดูว่ามาจากไหน ใครส่ง คิดว่าเป็นโทรเลขผู้ปกครองเด็กนักเรียนประจำส่งมา เพราะเคยได้รับบ่อย ๆ เรียกคุณพ่อว่า ท่านบาทหลวงก็มี ท่านสมภารก็มี ก็เลยคิดขบขันว่า คราวนี้ถูกเรียกว่า “ Holy father” (สันตะปาปา) เจ้าของโทรเลขคงเป็นจีน ประสงค์จะเรียกว่า “คุณพ่อ” จีนเรียกว่า “เซ่งหู” แปลออกเป็นภาษาอังกฤษก็ได้ “ Holy father” คุณพ่อเลยส่งโทรเลขให้คุณพ่อวินทร์ เป็นทีอวดว่า “เห็นไหมมีคนเรียกฉันว่า “ Holy father” แล้ว ” คุณพ่อวินทร์ รับมาอ่านดูเห็นข้อความสำคัญมาก จึงพับใส่กระเป๋าเสีย พอดีรถออกนำ คุณพ่อออรีเอร์ กลับกรุงเทพฯ แล้วคุณพ่อทั้งสองก็พากันเดินกลับ คุณพ่อสงวนหันมาถามคุณพ่อวินทร์ว่า “ ไง โทรเลขว่าอย่างไร?”
คุณพ่อวินทร์ตอบว่า “คุณพ่อทราบไหม คุณพ่อเป็นพระสังฆราชแห่งมิสซังจันทฯ แล้ว” ท่านฯ สงวนหน้าซีดเข้าใจทันที ต่อจากนั้น รู้สึกว่าภาระอันหนักเข้าครอบงำ ยังผลให้ปวดศรีษะอยู่หลายวัน อันที่จริงคำสั่งนี้ ส่งจากโรมถึงฮานอย เลขานุการประจำสำนักสมณทูต โทรเลขส่งข่าวด่วนต่อมายังสมณทูตที่ท่าแร่ ภาคอีสาน ฯพณฯ จะเดินทางไปจังหวัดนครพนมอยู่แล้ว เมื่อถึงนครพนม ฯพณฯ จึงส่งโทรเลขมายังศรีราชาความว่า “พระสันตะปาปาแต่งตั้งคุณพ่อเป็นพระสังฆราชประจำเมืองเอโนอันดา ทำการแทนพระสันตะปาปาในมิสซังจันทบุรี โปรดโทรเลขยอมรับไปยังสำนักสมณทูต
ขอแสดงความยินดี คือ อวยพร คูลี่ย์” ต่อจากนั้น ฯพณฯ โชแรง ได้รับข่าวแต่งตั้ง จาก ฯพณฯ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแห่งประเทศไทย โดยที่ ฯพณฯ รัฐมนตรีได้รับโทรเลขจากสมณทูตด้วย ฯพณฯ โชแรง จึงส่งโทรเลขมาแสดงความยินดี โดยทำนองเดียวกัน ฯพณฯ กาแลตโต และ ฯพณฯ บาเยต์ ซึ่งทราบข่าวก่อนใครอื่นในประเทศไทย เพราะท่านฯ ประจำอยู่ที่ท่าแร่ ต่อจากนั้น มีพระสงฆ์ ภราดา ภคินี สัตบุรุษชายหญิง พากันมาแสดงความยินดีและเคารพ โดยทางโทรเลข หรือมาด้วยตนเอง โดยเฉพาะพระสงฆ์ ที่มีคนคาดว่าคงจะได้รับเลือกตั้งด้วย ต่างแสดงความดีใจมากกว่าใครทั้งหลาย เพราะหายห่วงไปที ใครบ้างจะประสงค์รับผิดชอบใหญ่หลวงเช่นนี้
          ชาวเราจึงได้ ฯพณฯ ฟรันซิสซาเวียร์ สงวน สุวรรณศรี พระสังฆราชมิสซังจันทบุรี ด้วยประการเช่นนี้ อายุ 43 ปีเศษ ยังมีกำลังวังชา กระปรี้กระเปร่า พร้อมด้วยคุณลักษณะ คุณวุฒิ ปฏิภาณโวหาร ปฏิภาณปฏิบัติ ค่าที่ผจญภัยมามากแล้ว ชาวเราคงหวนระลึก ฯพณฯ แปร์โรส ที่เอาใจใส่ ฯพณฯ สงวน ตั้งแต่น้อยคุ้มใหญ่ ตัว ฯพณฯ อาวุโส ยังมีชีวิตอยู่เวลานี้ คงยินดีมาก ท่านเคยเรียกคุณพ่อสงวน เมื่อบวชใหม่ ๆ ว่า “หนู” ถ้าพบกันคราวนี้คงจะเรียกว่า “ท่านฯ หนู” เป็นแน่ เพราะ ฯพณฯอาวุโส คงจะรู้สึกความเป็นอาวุโสและความเป็นอัยการของท่านฯ ยิ่งขึ้น ชาวเราคณะสงฆ์ขอแสดงความยินดี ความเคารพ สัญญาว่าจะช่วยเหลือแบ่งเบาในทุกวิถีทาง จะโดยทางภาวนาก็ดี จะโดยทางการงานก็ดี
...................................................................................................................................

...................................................................................................................................


เกิด
....
๒๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๑
รับศีลล้างบาป ....
๒๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๑ จากฯพณฯยาโกเบ แจง เกิดสว่าง
บิดา ....
ยอแซฟ ธง สมานจิต
มารดา....
มาร์ธา แก้ว สมานจิต
พี่น้อง ....
๕ คน ชาย ๒ หญิง ๓ พระคุณเจ้าเป็นพี่ชายคนโต

การศึกษา ....
- ป.๑-๒ โรงเรียนราษฎร์นักบุญฟิลิปยากอบ หัวไผ่ จ.ชลบุรี
- ป.๓-ม.๓ โรงเรียนดาราสมุทร ศรีราชา จ.ชลบุรี(เข้าเป็นเณรที่บ้านเล็กพระหฤทัยศรีราชาเมื่ออยู่ชั้นม.๑ ปีค.ศ.๑๙๔๒)
- ม.๔-ม.๖ โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา จ.ชลบุรี
- เมื่อจบการศึกษาชั้นม.๖.แล้ว ระหว่างปี ๑๙๔๖-๑๙๕๒ เป็นครูสอนที่โรงเรียนดาราสมุทร ศรีราชา ครึ่งวัน และอีกครึ่งวันศึกษาภาษาลาติน ฝรั่งเศส ฯลฯ
- ศึกษาต่อที่ General College,Penang, Malaysia(1952-1958)
- ศึกษาวิชาพิธีกรรมและอภิบาล ที่ประเทศเบลเยี่ยม ๑๙๖๕
- ศึกษาวิชาสอนคำสอน ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ๑๙๖๗

รับศีลบรรพชา ....
๒๙ มกราคม ๑๙๕๙ โดยพระสังฆราช ฟรังซิส สงวน สุวรรณศรี
ที่วัดนักบุญฟิลิปยากอบ หัวไผ่ จ.ชลบุรี พร้อมกับคุณพ่อเปาโลเมธี
วรรณชัยวงศ์ และคุณพ่อยออากิม สง่า จันทรสมศักดิ์ มีคติพจน์ว่า
“ภาวนาและบริการพระวาจา-Orationi et Ministerio verbi”
หน้าที่การงาน ....
๑๙๕๙-๑๙๖๓ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสอาสนวิหารแม่พระปฏิสนธินิรมลจ.จันทบุรี และเป็นคุณพ่อวิญญาณรักษ์ของซิสเตอร์อารามฟาติมา จันทบุรี
๑๙๖๓-๑๙๖๕ เป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมาสน์น.เปโตรท่าแฉลบ และวัดอารักขเทวดา แหลมประดู่ จ.จันทบุรี
๑๙๖๗ เป็นเลขานุการพระสังฆราช ฟ.สงวน สุวรรณศรี
๑๙๗๑ ได้รับการสถาปนาจากสมเด็จพระสันตะปาปา เปาโลที่๖ ให้เป็นพระสังฆราช สืบแทนพระสังฆราช ฟ.สงวนฯซึ่งขอลาออกเพราะสุขภาพไม่ดี เมื่อวันที่๓กรกฎาคม ๑๙๗๑ และได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชสังฆมณฑลจันทบุรี
ลำดับที่๓ เมื่อวันที่๓ ตุลาคม ๑๙๗๑
โดยพระสังฆราช ฟ.สงวน สุวรรณศรี มีคติพจน์ว่า
เพื่อทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน-Ut Omnes Unum Sint
นอกเหนือจากเป็นประมุขสังฆมณฑลจันทบุรีแล้ว ปัจจุบันเป็นเหรัญญิกสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย เป็นประธานคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อสตรี เป็นประธานคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการท่องเที่ยว เป็นประธานคณะกรรมการศาสนสัมพันธ์ของสหพันธ์พระสังฆราชแห่งเอเซีย(FABC)

๒๐๐๓
+ได้รับตำแหน่งผู้บริหารสืบเนื่องจากอัครสาวกของสังฆมณฑลราชบุรี เมื่อวันที่๒๐มิถุนายน๒๐๐๓
+ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานองค์กรคาริตัส เอเชียในการประชุมสมัชชาครั้งที่๑๗ ที่กรุงโรมระหว่างวันที่๑๗-๒๑ กรกฎาคม ค.ศ.๒๐๐๓ และควบตำแหน่ง
รองประธานองค์กรคาริตัสสากล-Caritas Internationalisซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี

...................................................................................................................................

...................................................................................................................................
          ราวปีค.ศ. ๑๘๘๔ คุณพ่อมาธูแรง เกโก(Mathurin Guego)พระสงฆ์มิชชันนารี ชาวฝรั่งเศสคณะMEP ซึ่งขณะนั้นได้มาสร้างนิคมคริสตชนที่โคกกระเหรี่ยง(เขตอ.พานทองจ.ชลบุรี ปัจจุบัน) ได้ขยายพันธกิจ บุกเบิกและให้กำเนิดกลุ่มคริสตชนที่หัวไผ่ จากจำนวนเพียงไม่กี่ครอบครัว แต่การอบรมอันมีพื้นฐานจากชีวิตและคำสอนของพระเยซูคริสต์ ผ่านทางคุณพ่อเกโก ที่เน้นความรัก ความสามัคคี ยุติธรรมและมีสันติ ทำให้มีผู้สนใจสมัครเข้าเรียนคำสอนและรับศีลล้างบาปเพิ่มจำนวน คริสตังมากขึ้นๆ จนสามารถมีวัดเป็นกิจลักษณะ นาม “วัดนักบุญฟิลิปยากอบ หัวไผ่” และหนึ่งในจำนวนเหล่านั้น ก็มีครอบครัว “เตาถ่าน” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น “สมานจิต” ของปู่ย่าของยอแซฟธง สมานจิต รวมอยู่ด้วย
          ราว๔๗ปีหลังการก่อตั้งชุมชนวัดหัวไผ่ ครอบครัวของยอแซฟ ธง และอันนา แก้ว สมานจิต ก็ได้ให้กำเนิดเด็กชายคนแรกของครอบครัว เมื่อวันที่ ๒๘ เดือนพฤศจิกายน ค.ศ.๑๙๓๑/พ.ศ.๒๔๗๔ ได้ชื่อว่าเทียนชัย ต่อมาได้รับศีลล้างบาปจากคุณพ่อยาโกเบ แจง เกิดสว่าง มีนามนักบุญว่า ลอเรนซ์
          ด้วยรากฐานทางความเชื่อที่ยึดเอาหลักคำสอนของศาสนามาเป็นแก่น เพื่อการดำเนินชีวิตที่ซื่อสัตย์ ศรัทธาและเรียบง่าย เด็กชายลอเรนซ์ เทียนชัย สมานจิต จึงได้รับการถ่ายโอนความเชื่อ ความศรัทธาและวิถีชีวิตจากบิดามารดาอย่างดียิ่ง และยิ่งเป็นบุตรชายคนโต(ของพี่น้องชายหญิงอีก๔คน) ก็ย่อมได้รับสิ่งที่ดีและจำเป็นมากจากท่านทั้งสอง ดังนั้น ภาพที่เด็กชายน้อยเดินตามบิดามารดาไปวัดสวดภาวนา ร่วมมิสซาตั้งแต่เช้าทุกวันจึงเป็นภาพที่น่าประทับใจยิ่ง เป็นสิ่งที่ค่อยๆปลูกฝังในจิตใจอันบริสุทธิ์ ในเรื่องชีวิตคริสตชน และกระแสเรียกในการภาวนาและรับใช้โดยอัตโนมัติ และเมื่อเติบโต รู้ความแล้ว ยังมีความจำดี ในการจำบทบาทหน้าที่ของเด็กช่วยมิสซา ขนาดฝังใจกลับไปบ้าน แสดงบทบาทเป็นคุณพ่อและให้น้องๆเป็นเด็กช่วยมิสซาแทน
          เมื่อถึงวัยศึกษาเล่าเรียน บิดามารดาก็ส่งเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนราษฎร์วัดน.ฟิลิปยากอบ หัวไผ่(ปัจจุบันคือโรงเรียนประชาสงเคราะห์) ชั้นป.เตรียม แต่เมื่อเรียนถึงชั้นป.๒ เกิดกรณีพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับฝรั่งเศส เรียกว่า สงครามอินโดจีน บรรดาวัดและโรงเรียนสังกัดคริสตศาสนาต้องถูกปิดลง เพราะเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นของฝรั่งเศสส่งผลให้เด็กชายเทียนชัยต้องยุติการศึกษาที่หัวไผ่เพียงชั้นป.๒
          แต่ด้วยพระญาณสอดส่องของพระ เด็กชายเทียนชัย ได้รับการชักชวนจากคุณพ่อฟรีเยรีโอ พระสงฆ์คณะซาเลเซียน ที่เพิ่งเข้ามาประเทศไทยและกำลังศึกษาภาษาไทยอยู่ ได้ออกปากชักชวนให้ไปเรียนต่อที่ศรีราชา บิดามารดาคงเห็นว่า ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนสนใจและมีแววจึงตัดใจให้ออกจากอ้อมอกไปศึกษาต่อที่บ้านเณรเล็กพระหฤทัย ศรีราชา ณ โรงเรียนดาราสมุทร ปีค.ศ.๑๙๔๒ตั้งแต่ชั้นป.๓ เป็นต้นมาจนจบม.๓ จากนั้นไปศึกษาต่อในระดับชั้นม.๔-ม.๖ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา ซึ่งสมัยนั้นต้องเดินเท้าไปเรียนเช้าเย็น(บ่าย)กลับ จบแล้วก็เป็นครูครึ่งวัน อีกครึ่งวันเรียนภาษาลาตินและฝรั่งเศส
          จนปี ค.ศ.๑๙๕๒ ผู้ใหญ่ของบ้านเณร ได้ส่งไปศึกษาต่อที่บ้านเณรใหญ่ General College ปีนัง ทางด้านปรัชญาและเทวศาสตร์ พร้อมด้วยสามเณร(เม่งเก่ง)เมธี วรรณชัยวงศ์ และสง่า จันทรสมศักดิ์
          หลังจากจบหลักสูตร ๖ปีที่บ้านเณรปีนัง ก็ได้กลับแผนดินแม่-ประเทศไทย และได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ เมื่อวันที่๒๙ มกราคม ค.ศ.๑๙๕๙ ที่วัดน.ฟิลิปยากอบหัวไผ่ โดยพระสังฆราช ฟรังซิส เซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี มีคติพจน์ประจำตัวว่า “อุทิศตนเพื่อการภาวนาและบริการพระวาจา” (Orationi et ministerio verbi)ขณะมีอายุได้เพียง ๒๘ปี
          ชีวิตแห่งการอุทิศตนเพื่อการภาวนาและบริการพระวาจาในฐานะสงฆ์ของพระคริสต์ของคุณพ่อเทียนชัย สมานจิต เริ่มต้นเป็นทางการในฐานะพระสงฆ์ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ที่อาสนวิหารแม่พระปฏิสนธินิรมล จันทบุรี โดยมีคุณพ่อร็อค สนิท วรศิลป์ เป็นเจ้าอาวาส นอกเหนือจากงานประจำที่ต้องกระทำที่วัดใหญ่แล้ว คุณพ่อเทียนชัย ยังได้รับความไว้วางจากผู้ใหญ่ ให้เป็นพระสงฆ์วิญญาณรักษ์ของซิสเตอร์คณะรักกางเขน ณ จันทบุรี(คณะธิดากางเขนอารามฟาติมาจันทบุรี) ด้วย
          ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมาสน์น.เปโตร ท่าแฉลบและวัดอารักขเทวดาแหลมประดู่ในปี ๑๙๖๓-๑๙๖๕ ในช่วงที่เป็นเจ้าอาวาสที่ท่าแฉลบและแหลมประดู่ เวลานั้นยังไม่มีรถยนต์ใช้ มีแต่มอเตอร์ไซด์คันใหญ่(ผลิตจากอังกฤษ) และลองนึกภาพพระสงฆ์สมัยนั้น ยังบังคับให้ต้องสวมเสื้อหล่อเสมอ และต้องขี่มอเตอร์ไซด์ วันหนึ่ง ขณะที่ขี่มอเตอร์ไซด์ ชายเสื้อหล่อบังเอิญปลิวเข้าไปตะขบติดกับเฟื้อล้อรอ รถหยุดกระทันหัน เครื่องดับ ต้องจอดหามีด/กรรไกรมาตัดชายเสื้อหล่อออก
          ด้วยความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับงานอภิบาลและพิธีกรรม ในปี ๑๙๖๕ ได้รับการสนับสนุนให้ไปศึกษาต่อด้านพิธีกรรมและการอภิบาลที่ประเทศเบลเยี่ยม จบแล้วไปศึกษาต่อด้านคำสอนที่ประเทศฝรั่งเศสในปี๑๙๖๗
          ภายหลังจากกลับจากเมืองนอกไม่นาน ปลายปีนั้นเอง ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการพระสังฆราชสงวน สุวรรณศรี ย้ายมาทำหน้าที่ประจำ ที่สำนักพระสังฆราช ศรีราชา อยู่ที่ศรีราชา ทุกเช้าก็ยังต้องอาศัยมอเตอร์ไซด์คู่ใจขับไปถวายมิสซาที่วัดน้อยโรงเรียนเซนต์ปอล และก็เกิดอุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซด์อีกจนได้ ครั้งนั้นหนักเอาการ เพราะคุณพ่อถึงกับสลบไปเลย อาจเพราะเหตุนี้กระมัง ที่ต่อมาพระสังฆราชสงวน สุวรรณศรี จึงประกาศให้ไม่ต้องสวมเสื้อหล่อ เป็นต้นขณะขับขี่มอเตอร์ไซด์ อย่างไรก็ดี มีผู้รู้เคยเล่าให้ฟังว่า ผู้ชาญฉลาดทางธรรม(คนของพระ)ก็อาจไม่เท่าทันสิ่งที่เป็นของธรรมดาในโลก...ว่ากันว่า วันหนึ่ง พระสงฆ์หนุ่มองค์นี้ เพิ่งถอยมอเตอร์ไซด์ออกมาใหม่ๆ ทางผู้ขายก็แนะนำว่า รถเพิ่งออกหรือซื้อไปใหม่ๆ ยังอยู่ในระหว่างรัน-อิน(Run-In) อย่าเพิ่งขับเร็ว เพราะเครื่องอาจจะน็อคหรือพัง วันนั้น มีธุระจำเป็นต้องไประยอง ก็ควบมอเตอร์ไซด์คู่ชีพจากวัดหัวไผ่ ด้วยคำใส่ใจที่ผู้ขายสั่งไว้ คืออย่าเพิ่งขับเร็ว สิ่งที่สงฆ์หนุ่มคิดได้ในเวลานั้นคือ “เพื่อไม่ให้เร็ว ก็คือขับขี่ไปช้าๆ และถ้าจะให้ไปช้าๆ ก็ต้องใช้เกียร์ต่ำ คือเกียร์๑เกียร์๒เท่านั้น”....ก็จิตนาการต่อกันไปเองนะครับ จากวัดหัวไผ่...เส้นทางสมัยนั้น มันไม่ได้มีถนนหนทางดีๆตรงๆ..ไปถึงจ.ระยอง... เครื่องมันจะร้อนขนาดไหน และใช้เวลาขับขี่กี่ชั่วโมง??..ก็ลองไปหาคำตอบเองนะครับ...           ปี ๑๙๗๐ พระสังฆราช ฟรังซิส เซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี ประมุของค์ที่๒ของสังฆมณฑล(เกิดเมื่อ๑ธันวาคม๑๙๐๙ รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ที่กรุงโรมปีค.ศ.๑๙๓๖ และได้รับการแต่ตั้งเป็นพระสังฆราชปีค.ศ.๑๙๕๓ ขณะอายุได้๓๒ปี พระคุณเจ้าปกครองสังฆมณฑลได้๑๗ปี) ได้พิจารณาเห็นว่า สุขภาพของพระคุณเจ้าอาจเป็นอุปสรรค์ในการกระทำหน้าที่ในตำแหน่ง (พระคุณเจ้าสงวน สุขภาพไม่สู้จะดีมานาน เริ่มเป็นโรคเบาหวานตั้งแต่อายุ๔๐ปีเศษ แม้พระคุณเจ้าจะพยายามบำรุงสุขภาพ รักษาตัวจากโรค กอร์ปกับภาระในหน้าที่ก็มากและค่อนข้างหนักในฐานะประมุขของสังฆมณฑลที่เพิ่งเริ่มมาได้ไม่นาน โดยเฉพาะด้านการอภิบาล และการบริหารปกครองฯพระคุณเจ้า จึงขอลาออกจากหน้าที่ในปีนั้นเอง

          ทางสันตะสำนัก ได้อนุมัติแต่งตั้ง คุณพ่อ ร็อค สนิท วรศิลป์ เป็นผู้รับตำแหน่งรักษาการแทน
จนกระทั่ง ได้มีสารตราตั้ง จากสมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ ๖ เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม คศ. ๑๙๗๑
ให้คุณพ่อลอเรนซ์ เทียนชัย สมานจิต เป็นพระสังฆราชปกครองสังฆมณฑลจันทบุรี เป็นลำดับที่๓ และได้พิธีอภิเษกเป็นพระสังฆราชอย่างเป็นทางการ ที่วัดน.ฟิลิปยากอบหัวไผ่ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๑๙๗๑ จากพระสังฆราช ฟรังซิส เซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี ขณะที่มีอายุยังไม่ ๔๐ ปีเต็ม โดยมีคติพจน์ในการอุทิศตนเพื่อการรับใช้พระเจ้าในสังฆมณฑฃจันทบุรีว่า “เพื่อทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน”(Ut omnes unum sint)
          ด้วยวัยเพียง ๔๐ ปีเศษ กับพันธกิจที่มากมายของสังฆมณฑล มีคณะสงฆ์ผู้ร่วมงานประมาณ ๔๐องค์ เป็นสิ่งที่ท้ายพระสังฆราชเป็นอย่างยิ่ง หากแต่เพราะเชื่อและไว้วางใจว่านี่เป็นพันธกิจที่พระเจ้าประสงค์ให้รับอย่างแท้จริง ซึ่ง พระองค์จะทรงประทานพระหรรษทานของพระจิตของพระคริสต์ผู้ทรงกลับคืนชีพและทรงอยู่กับพระศาสนจักรอย่างแน่นอน ฯลฯ ทำให้สังฆมณฑลจันทบุรี ภายใต้การนำของนายชุมพาบาลผู้ใจดี ศรัทธา สุภาพ ถ่อมตน เพียรทน เป็นกันเอง ประนีประนอม มีวิสัยทัศน์ฯลฯ ได้รับการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าในทุกด้าน


          ๓๒ ปีที่สืบสานงานของพระในสังฆมณฑลจันทบุรี สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญและเป็นวิถีชีวิตของพระคุณเจ้า คือการนำเอาคติพจน์เมื่อครั้งเป็นพระสงฆ์และเมื่อได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราช มาปฏิบัติให้เป็นจริงอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เห็นภาพของความเป็นหนึ่งเดียวกันเกิดขึ้นในทุกระดับ จนเป็นที่ยอมรับในระดับสูง จนได้รับตำแหน่งเป็นผู้บริหารสืบเนื่องจากอัครสาวกของสังฆมณฑลราชบุรี ยิ่งกว่านั้นยังใช้การมีวิสัยทัศน์ นำสังฆมณฑลแม้หน่วยงานระดับชาติฯไปอย่างรุดหน้า ล่าสุดได้รับการเลือกตั้งและแต่งตั้งเป็นประธานคาริตัสของทวีปเอเซียและรองประธานองค์กรคาริตัสสากลตามลำดับ พระคุณเจ้าใช้ความสุภาพ ถ่อมตน อดทน การให้โอกาสฯ ทำให้สามารถนั่งอยู่ในดวงใจของทุกคนและทุกหน่วยงาน และที่สำคัญคือ ชีวิตที่ศรัทธา ภาวนา มีมิติของความสนิทสัมพันธ์กับพระ เป็นต้นแบบให้ลูกแกะในความรับผิดชอบต้องพยายามเลียนแบบและทำให้เกิดขึ้นในชีวิตเช่นเดียวกัน
          นับจากวันนั้นจวบจนวันนี้ ๗๒ ปีของชาติกำเนิด พระคุณเจ้าได้อุทิศตนเป็นข้ารับใช้พระและประชากรของพระองค์ในสังฆมณฑลจันทบุรีได้ ๔๔ ปี (ตั้งแต่บวชเป็นพระสงฆ์) เฉพาะในหน้าที่นายชุมพาบาล ๓๒ ปี ทั้งหมดพิสูจน์ให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า พระคุณเจ้า ลอเรนซ์ เทียนชัย สมานจิต อุทิศตนเองกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตในการรับใช้พระเป็นเจ้าและประชากรของพระองค์ในสังฆมณฑลจันทบุรี


นี่คือความยิ่งใหญ่ที่ไม่ธรรมดาของศาสนบุรุษ และนี่คือ... Ecce Sacerdos Magnus…
นามว่า พระสังฆราช ลอเรนซ์ เทียนชัย สมานจิต
Ad Multos Annos Te Optamus

...................................................................................................................................